วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554

โรคอ้วนในเด็ก


ในปัจจุบัน ภาวะโภชนาการเกินเป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นกับทุกภูมิภาค ทุกเพศ ทุกวัย จากการสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการในประเทศไทยของกรมอนามัย สถิติปีพ.ศ.2529 พบอุบัติการณ์โรคอ้วนในประชากรทั่วประเทศ 14.3% และในปีพ.ศ. 2538 พบมากขึ้นเป็น 29.9%



ในระดับอนุบาลนั้น จากโรงเรียนอนุบาลทั่วประเทศ ในปี พ.ศ. 2542 พบอุบัติการณ์โรคอ้วน 13.6% ในปี 2547 จากการสำรวจข้อมูลโรงเรียนอนุบาล 29 โรง พบเด็กนักเรียนในเกณฑ์ท้วมและอ้วนถึง 32.4% ครูเกศจึงขอนำข้อมูลจากป้าหมอสุนทรีโรงพยาบาลเด็ก และข้อมูลจากการอบรม “การเฝ้าระวังโรคอ้วนในเด็กอนุบาล” กระทรวงสาธารณสุข มาถ่ายทอดให้ผู้ปกครองได้รับทราบกัน

โรคอ้วนไม่ใช่โรคอันตรายร้ายแรง แต่เป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถดูแลแก้ไขได้โดยคุณพ่อ คุณแม่ คุณตา คุณยายหรือผู้ดูแลเด็ก ครูเกศและป้าหมอหวังว่า ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับโรคอ้วนและการดูแลน้ำหนักของเด็ก ๆ จะทำให้คุณพ่อ คุณแม่ เข้าใจและช่วยระวังสุขภาพและโภชนาการของเด็ก ๆ มากขึ้น

ภาวะโรคอ้วนมีอยู่ 2 ชนิดด้วยกันคือ อ้วนธรรมดา และอ้วนจากโรค ( กลุ่มอาการที่เกิดจากต่อมไร้ท่อ ) ในจำนวนเด็ก ๆ ที่เป็นโรคอ้วนร้อยละ 95 จะจัดอยูในประเภทอ้วนแบบธรรมดา ซึ่งเกิดจากกินเกินพอดี ทานอาหารที่มีรสหวาน มีไขมันสูง ออกกำลังกายไม่เพียงพอ เช่น ชอบนอนดูทีวี เล่นเกม ไม่ยอมขยับตัว สิ่งแวดล้อมเป็นใจ เช่น ถูกทอดทิ้ง อารมณ์บูด มีขนมเต็มบ้าน บางรายที่คุณพ่อ คุณแม่อ้วน อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ ( 30-80 % ) ส่วนอีกประมาณร้อยละ 5 เป็นภาวะความอ้วนที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกาย ซึ่งจำเป็นต้องดูแล แก้ไขและควบคุมโดยแพทย์

เด็ก ๆ ที่จัดอยู่ในภาวะอ้วนแบบธรรมดา เราอาจมองจากภายนอกว่าเด็ก ๆ น่ารักจากน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น แต่ภายใต้ความน่ารักนั้นมีอาการบางอย่างที่แฝงอยู่ซึ่งเราอาจไม่สามารถสังเกตได้หรือเด็ก ๆ ไม่สามารถอธิบายให้เราทราบได้ เช่น น้ำตาลในเลือดสูง หายใจลำบาก ปวดข้อ ผิวหนังอักเสบหรือหยาบดำขึ้น ถ้าเด็ก ๆ มีภาวะน้ำหนักเกินอยู่เป็นเวลานาน คุณพ่อ คุณแม่ จำต้องระวัง เรื่องความดันโลหิตสูง เบาหวานและโรคหัวใจด้วยเช่นกันค่ะ

ดังนั้น ก่อนที่เด็ก ๆ จะเป็นโรคอ้วน เรามาช่วยกันสน้างสุขนิสัยที่ดีในการเฝ้าระวังโรคอ้วนในเด็กวัยอนุบาลกันดีกว่าค่ะ เทคนิคการสร้างสุขนิสัยการกินที่ดีนี้ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อเด็กที่มีภาวะน้ำหนักเกินเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์กับเด็ก ๆ ที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์และเด็ก ๆ ที่มีน้ำหนักตามเกณฑ์ด้วยค่ะ
  1. ให้เด็กๆ ทานอาหารให้เป็นเวลา หากเด็กไม่ทานอาหารมื้อใดไม่ควรให้ทานเสริม ไม่ทานจุบจิบระหว่างมื้ออาหาร งดการทานน้ำหวานก่อนมื้ออาหาร
  2. จำกัดเวลาอาหาร (ประมาณ 30 นาที) ไม่ควรตั้งอาหารไว้บนโต๊ะตลอดเวลา
  3. คุณพ่อ คุณแม่และคุณครูควรตระหนักว่ามนุษย์มีสัญชาติญาณในการทานอาหารเมื่อหิว หากคุณพ่อ คุณแม่ เข้าใจกฎธรรมชาตินี้ จะลดความกังวลเมื่อเด็กไม่ยอมทานอาหาร และหลีกเลี่ยงการบังคับให้เด็กทานด้วยการป้อนแบบยัดเยียดเพราะจะทำให้เด็ก ๆ มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการทานอาหาร ควรฝึกให้เด็กทานด้วยตัวเอง
  4. เด็กอนุบาลบางครั้งยังกลัวอาหารที่ไม่คุ้นเคย อาจไม่กล้าลองของใหม่ๆ โดยเฉพาะผัก คุณพ่อ คุณแม่ควรอธิบายให้เด็กทราบ ให้กำลังใจ ให้เด็กลองไม่ควรบังคับข่มขู่ ต้องยอมรับความคิดเห็นและการตัดสินใจของเขา
  5. คุณพ่อ คุณแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการรับประทานอาหารที่หลากหลาย เนื่องจากเด็กมักเลียนแบบพ่อแม่ในทุกๆ เรื่อง คุณพ่อ คุณแม่อย่าลืมนะคะว่าลูก ๆ เราแสนฉลาด แม้คุณพ่อ คุณแม่จะแอบเขี่ยผักออกจากจานเวลาที่ลูกเผลอ แต่เด็ก ๆ ก็มีสัญชาตญาณในการรับรู้แบบที่ผู้ใหญ่ไม่รู้ตัว
  6. สร้างมารยาทในการทานอาหาร บอกให้เด็กทราบมารยาทบนโต๊ะอาหาร ไม่เล่นขณะทานอาหาร หากเด็กควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือมีพฤติกรรมไม่เป็นที่ยอมรับ ต้องแยกเด็กออกไปชั่วคราว โดยไม่อนุญาติให้เด็กถืออาหารติดมือไปทานที่อื่น ต้องให้เด็กเรียนรู้ความหิวและรอทานในมื้อถัดไป ไม่ให้อาหารเสริมพิเศษ
  7. สร้างวุฒิภาวะที่เหมาะสม ส่วนใหญ่เด็กมักเรียนรู้การทานอาหารเกือบทุกชนิดได้ เพียงแต่ใช้เวลาเริ่มเร็วต่างกัน พ่อแม่ต้องพยายามจัดอาหารให้หลากหลาย เพื่อให้เด็กคุ้นเคย และทดลอง
นอกจากอาหารแล้ว เด็ก ๆ ในวัยนี้ยังต้องการสารอาหารจากนมค่อนข้างมาก นมที่เด็ก ๆ ดื่มจึงมีส่วนในโรคอ้วนที่เกิดขึ้นกับเด็ก ในการเลือกผลิตภัณฑ์นม คุณพ่อ คุณแม่ควรดูที่ส่วนประกอบข้างกล่องหรือกระป๋องว่า ประกอบด้วยอะไรบ้าง คิดเป็นร้อยละเท่าไหร่ ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีไขมันเกลือและ น้ำตาล ปริมาณมาก เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุทำให้เกิดอ้วนได้ การเลือกผลิตภัณฑ์นม ควรดูที่ฉลากข้างกล่องว่า มีแคลเชี่ยมปริมาณเท่าใด บางชนิดในกล่องมีแคลเชี่ยม 25 % บางชนิดมี 35 % นมที่มีประโยชน์ ควรมีแคลเซียม 30 %หรือมากกว่า และควรเลือกนมจืดให้เด็กรับประทาน แทนนมหวาน นมชอคโกแลตหรือสตรอเบอรรี่ ส่วนนมเปรี้ยวแม้จะมีรสชาดอร่อย แต่มีคุณค่าน้อยกว่านมธรรมดา นอกจากนี้ ในอนาคตอันใกล้ กระทรวงสาธารณสุขอาจประกาศให้นมเปรี้ยวเป็นนมที่สตรีมีครรภ์และเด็กควรดื่มในปริมาณที่เหมาะสมและด้วยความระมัดระวัง ทั้งนี้ เราคงจะต้องติดตามประกาศอย่างเป็นทางการของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

ในการระวังปริมาณน้ำตาลในนมหรืออาหารของเด็กนั้น สำหรับเด็กวัยอนุบาลเด็ก ๆ ควรได้รับน้ำตาลจากอาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ เพียง 4 ช้อนชาต่อวัน คุณแม่สามารถหาปริมาณน้ำตาลจากนมที่เด็ก ๆ ดื่มได้ โดยคำนวณจากปริมาณน้ำตาลที่ระบุข้างกล่อง (น้ำตาล 4 กรัมเท่ากับ 1 ช้อนชา) คุณพ่อ คุณแม่ลองเปรียบเทียบปริมาณน้ำตาลที่ร่างกายต้องการกับปริมาณน้ำตาลที่อยู่ในอาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้นะคะ


  • น้ำอัดลม 1 ขวด มีน้ำตาล 7 ช้อนชา




  • ขนมเค้ก 1 ชิ้น มีน้ำตาล 6 ช้อนชา




  • ขนมหม้อแกง 1 ชิ้น มีน้ำตาล 5 ช้อนชา




  • นมหวาน 1 กล่อง มีน้ำตาล 4 ช้อนชา




  • ลูกอม 1 เม็ด มีน้ำตาล 1 ช้อนชา
    แน่นอนค่ะ อาหารเหล่านี้เป็นอาหารซึ่งเด็ก ๆ ที่มีน้ำหนักเกินควรหลีกเลี่ยง

    ดังนั้น คุณครูหวังว่า คุณพ่อ คุณแม่จะช่วยกันเลือกอาหารการกินที่มีประโยชน์แก่เด็ก ๆ เพื่อให้เด็ก ๆ มีสุขภาพที่ดีและรักษาน้ำหนักให้ได้มาตรฐานค่ะ ท้ายนี้ขอฝากไว้อีกครั้งนะคะว่า น้ำหนักเกินไม่ใช่เรื่องร้ายแรง แต่เป็นสิ่งที่เราสามารถดูแล แก้ไขได้หากมีวินัย เมื่อลูก ๆ ของเรามีวินัยในการกิน การเลือกทานอาหาร ลูก ๆ จะมีสุขภาพกายและจิตที่ดี มีความพร้อมในการเรียนรู้และมีความสุขด้วยค่ะ

  • ที่มาhttp://www.preschool.or.th/article_kindergarten/journal_fat.html


    ไม่มีความคิดเห็น:

    แสดงความคิดเห็น