วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

วิธีปรับพฤติกรรมเมื่อเด็กอาละวาด

วิธีปรับพฤติกรรมเมื่อเด็กอาละวาด 
            ตอนนี้เอะอะอะไรก็ร้อง   ขัดใจนิดหน่อยไม่ได้เลย  บางทีก็ไม่รู้ด้วยว่าร้องทำไม
           “ไม่กล้าพาไปไหนแล้ว  เมื่อวานพาไปห้าง  จะซื้อของเล่น  แต่ไม่ซื้อให้เพราะมีแล้ว  ก็ลงไป
   นอนดิ้นกับพื้น ร้องจะเอาให้ได้  คนดูกันใหญ่
               ปัญหาข้างต้นเป็นปัญหาติดอันดับสำหรับพ่อแม่ที่มีลูกอายุประมาณ 2 ขวบค่ะ พฤติกรรมดังกล่าวเรียกว่า Temper Tantrum” แปลเป็นภาษาไทยง่าย ๆ ว่า ร้องอาละวาด  คือเด็กจะแสดงอารมณ์โกรธที่รุนแรง โดยทิ้งตัวลงกับพื้น นอนดิ้น  ฟาดแขนฟาดขา  แผดเสียงร้อง   ขณะที่ร้องนั้นเด็กจะปล่อยอารมณ์ออกทางกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหว
             Temper Tantrum เป็นพฤติกรรมปกติของเด็กปฐมวัยที่กำลังพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง  ประกอบกับพัฒนาการด้านภาษายังไม่ดีนัก  อะไรที่ไม่ได้ดังใจหรือไม่ได้รับการตอบสนองอย่างทันใจ จะทำให้เขาโกรธและแสดงพฤติกรรมดังกล่าว  ซึ่งเมื่อมีความเข้าใจภาษาเข้าใจเรื่องเหตุผลมากขึ้น และได้เรียนรู้เกี่ยวกับการอดทนหรือรอคอยทุกอย่างก็จะผ่านไป   แต่ถ้ามีการตอบสนองที่ไม่เหมาะสม  เช่นการตามใจเมื่อเด็กร้อง เด็กก็จะเกิดการเรียนรู้ว่าการร้องอาละวาดจะสามารถควบคุมสถานการณ์หรือเอาชนะผู้ใหญ่ได้  เด็กจะใช้วิธีนี้มาเรียกร้องความต้องการของตนเสมอจนติดเป็นนิสัย  หรือถ้าใช้วิธีลงโทษ ไม่ว่าจะดุหรือตี เด็กจะยิ่งคับข้องใจสุดท้ายก็จะรุนแรงขึ้นเพื่อลองกำลังกับผู้ใหญ่
               เจ้าหนูออทิสติกของพวกเราก็มีพฤติกรรมนี้เช่นกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่มีปัญหาในการสื่อสารจะพบได้ง่าย  ดิฉันขอเล่าเรื่องของตาหนูออทิสติกคนหนึ่งเป็นตัวอย่างนะคะ  ตอนนั้นเขาอายุสองขวบต้น ๆ  กำลังพัฒนาไปได้ดี  แต่เริ่มมีปัญหาที่รบกวนทางบ้านคือร้องเอาแต่ใจนี่แหละค่ะ ขัดใจเป็นลงนอน  แหกปากร้องดิฉันมักจะได้รับโทรศัพท์ของคุณแม่เขาเกือบทุกเย็น 
                 “เอาอีกแล้วร้องอีกแล้ว  ได้ยินมั้ยคะ  เนี่ยจะ……..”  (ที่จุดจุดจุดไว้เป็นความต้องการของตาหนูตอนนั้น ที่เปลี่ยนไปในแต่ละวันที่แม่เล่า)  น้ำเสียงคุณแม่กลุ้มใจมากคิดว่าลูกต้องผิดปกติ  มันต้องเป็นอาการออทิสติกที่แย่แน่เลย   ดิฉันต้องอธิบายว่าเป็นเรื่องปกติ  และค่อย ๆ ชี้ให้เห็นว่าปกติอย่างไง  “ดูสิ  ลูกเอาแต่ร้อง ไม่รู้เรื่องหรือเปล่า - ก็เปล่า / ดูสิ สายตาลูกมองเราอยู่ใช่มั้ย ก็ใช่   นั่นแหละเขารอให้เราตามใจเขา   ตอนนี้เราทำอะไรอยู่ก็ทำไป   อดทนอีกนิดเดียว  เดี๋ยวก็เงียบเอง  น้ำเสียงแม่ใจชื้นขึ้นหน่อย     สองสามวันผ่านไปแม่เริ่มมั่นใจว่าลูกปกติจริง ๆ และอดทนมากขึ้น  นิ่งขึ้น   แต่มันไม่ง่ายสำหรับบ้านนี้เพราะคุณแม่ต้องกังวลกับคุณตาคุณยาย คุณป้า ๆ ที่สงสารหลานพร้อมจะตอบสนองความต้องการของหลานทุกเมื่อ  แต่คุณแม่ก็ผ่านมาได้ระดับหนึ่ง
                    และไม่ใช่แต่ที่บ้านนะคะตาหนูมาแผลฤทธิ์โชว์ที่ห้องบำบัดอยู่เหมือนกัน  มีครั้งหนึ่งทำให้ดิฉันต้องเดินอมยิ้มออกจากห้อง ก็เพราะดิฉันไปขัดใจเขา (ไม่ใส่รองเท้าให้เขา เพราะอยากให้เขาใส่เอง)  ว่าแล้วคุณก็ลงนอนกับพื้น  แต่ด้วยความเชี่ยวชาญที่ใช้วิธีนี้บ่อย ก่อนหัวจะถึงพื้นคุณเหลือบมองก่อนเห็นว่ามีเก้าอี้ตัวหนึ่งตั้งอยู่  แล้วคุณก็ผลักขาเก้าอี้หลบไปนิดหนึ่งหัวจะได้ไม่โขกเก้าอี้  ก่อนจะนอนดิ้นแถกแถก  ร้องไห้เสียงดัง  ดิฉันปล่อยให้คุณเธอร้องจนสงบและเดินถือรองเท้าออกมา  ดิฉันจึงเข้าไปคุยด้วยและบอกให้ใส่รองเท้าก่อนแล้วจะพาออกไปส่ง  ดิฉันเพียงจัดวางรองเท้าให้  เขาก็ใส่จนเสร็จ  ดิฉันเชื่อว่าที่บ้านก็กำลังจะผ่านไปได้เช่นกัน
                 หลายท่านอาจกำลังเผชิญกับปัญหานี้  ขณะลูกกำลังร้องอาละวาด คุณต้องนิ่ง และใจเย็น อย่าให้ลูกรู้สึกว่าเราสนใจเขา รอจนลูกสงบแล้วจึงเข้าไปพูดคุยกับลูก  เปิดโอกาสให้ลูกพูดสื่อความต้องการ ไม่ควรใช้วิธีตีหรือลงโทษ  หรือตามใจเพื่อหยุดพฤติกรรมเด็ก และต้องสม่ำเสมอด้วยนะคะ  แล้วทุกอย่างจะผ่านไปค่ะ  อ้อ ช่วงนี้ไม่ควรพาไปห้างสรรพสินค้านะคะ  เพราะคุณอาจไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้  ขอบอก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น